การสร้างบ้านในเมืองร้อนอย่างเมืองไทยของเรา ฉนวนกันความร้อน หรือแผ่นกันความร้อน ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมี เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยกรองความร้อนจากแสงแดดให้ในบล้านเย็นสบาย ไม่รู้สึกร้อนมากจนเกินไป ซึ่งหากใครกำลังจะสร้างบ้านแล้วไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับการติดแผ่นกันความร้อน เราจึงมาแนะนำแบบง่าย ๆ ดังนี้
ประเภทของวัสดุฉนวนกันความร้อน แบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ แบบแผ่น และแบบพ่น
ฉนวนแบบแผ่น
ฉนวนแบบแผ่นเป็นประเภทที่นิยมมากที่สุด และติดตั้งได้ง่ายที่สุดสามารถติดตั้งได้ทั้งบนฝ้าเพดาน ใต้หลังคา ติดในโครงผนังเบา บนแป หรือติดใต้จันทัน ฉนวนในกลุ่มนี้ก็ได้แก่
- ฉนวนใยแก้ว – นิยมติดตั้งทั้งใต้แผ่นหลังคา และบนฝ้าเพดาน ฉนวนประเภทนี้จะมีลักษณะเป็นแผ่นหนาหุ้มด้วยแผ่นฟอยล์ ภายในเป็นใยแก้วเส้นเล็กประสานกันเป็นโพลอากาศเพื่อเก็บความร้อน นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติเก็บเสียงได้ ยากต่อการติดไฟ และติดตั้งง่าย
- อะลูมิเนียม ฟอยล์ – เหมาะสำหรับติดตั้งใต้แผ่นหลังคา มีคุณสมบัติช่วยสะท้อนความร้อนออกจากหลังคา ฉนวนแบบนี้ยังมีความหนาทำให้มีประสิทธิภาพการป้องกันแสงยูวีที่สูง มีความคงทนไม่ฉีกขาง่าย
- โพลียูรีเทน โฟม – ฉนวนแบบนี้เรียกกันง่าย ๆ ว่าโฟมเหลือง นิยมติดตั้งทั้งบนฝ้าติดตั้ง และใต้แผ่นหลังคา ฉนวนกันความร้อนประเภทนี้มีค่าการนำความร้อนต่ำ ทำให้อากาศร้อนก็จะผ่านตัวฉนวนเข้ามาที่ตัวบ้านได้น้อยลง จึงเหมาะที่จะใช้กับโรงงานต่าง ๆ นอกจากนี้ยังกันความชื้น กันเสียงได้ดี แต่เสื่อมสภาพได้ง่ายหากอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนมาก ๆ อย่างต่อเนื่อง
- โพลีเอธิลีน โฟม – เป็นฉนวนอีกประเภทหนึ่งที่นิยมนำ ติดตั้งบนฝ้า กับแผ่นใต้แผ่นหลังคา เพราะมีราคาที่ต่ำกว่าฉนวนใยแก้ว แต่มีความหนา เหนียว ทนต่อแรงกระแทก น้ำหนักเบา เคลือบผิวด้วยแผ่นฟอยล์บาง ๆ ทำให้ป้องกันความร้อนได้ดี
- โพลีสไตรีน โฟม – เป็นฉนวนที่กันได้ทั้งความร้อน และความเย็น ติดตั้งเคลื่อนย้ายง่าย เพราะมีน้ำหนักเบา สามารถทำเป็นฝ้าเพดานได้โดยไม่ต้องมีฉนวนอื่นเพิ่ม
ฉนวนกันความร้อนแบบพ่น
ฉนวนแบบนี้จะใช้วิธีการพ่นลงบนวัสดุอื่น ๆ เพื่อกันความร้อนเช่น พ่นบนหลังคา ฝ้าเพดาน ผนังบ้าน โดยแบ่งได้ดังนี้
- เซรามิคสะท้อนความร้อน – สามารถพ่นกันความร้อนได้ทั้งภายนอก และภายในอาคาร รวมไปถึงหลังคา และดาดฟ้า ซึ่งกระเบื้องบางชนิดก็ได้มีการเคลือบสารตัวนี้ ฉนวนประเภทนี้ยังมีคุณสมบัติกันน้ำซึมได้ดีอีกด้วย
- เยื่อกระดาษ – ฉนวนแบบเยื่อกระดาษนอจากจะกันความร้อนได้ไม่น้อยหน้าฉนวนความร้อนประเภทอื่น ยังป้องกันเสียงได้ดี หากติดไฟจะไม่ลาม มีน้ำหนักเบา เหมาะสำหรับการติดตั้งบริเวณ ใต้หลังคา โพรงหลังคา และฝ้าเพดาน
ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลคร่าว ๆ แบบเข้าใจง่ายเกี่ยวกับฉนวนกันความร้อน ซึ่งหากใครที่กำลังจะสร้างบ้านก็ควรศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม หรือหากไม่แน่ใจก็ลองปรึกษาช่างดู เพื่อที่จะได้ใช้ของเหมาะสมกับการใช้งาน เพื่อให้บ้านมีความเย็นสบายมากที่สุด